วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

ช้างเอเชีย

ช้างเอเชีย (Elephas Maximus) ช้างเอเชีย คือ ช้างที่อาศัยอยู่ตามป่าในประเทศไทย อินเดีย พม่า กัมพูชา ศรีลังกา และมาเลเซีย ช้างเอเชียมีความสูงในขณะมีความสมบูรณ์เต็มที่ วัดจากปลายขาหน้าถึงไหล่ เฉลี่ยประมาณ 3 เมตร หัวเป็นโหนก มองจากด้านหน้าจะเห็นเป็น 2 ลอน เฉลียวฉลาดสามารถนำมาฝึกให้ทำงาน หรือฝึกให้แสดงท่าทางต่าง ๆ ได้ ใบหูเป็นแผ่นกว้าง ขอบหูด้านบนอยู่ในระดับของหัว ปลายงวงจะมีงอยเดียว หลังโค้ง เห็นได้ชัด เท้าหน้าทีเล็บข้างละ 5 เล็บ เท้าหลังมีข้างละ 4 เล็บ ช้างเอเชียซึ่งรวมถึงช้างไทยด้วยนี้ ถ้าเป็นช้างตัวผู้ เรียกว่าช้างพลาย ซึ่งจะมีงา ส่วนช้างตัวเมีย ที่เรียกว่าช้างพังนั้น โดยปกติจะไม่มีงา หรืออาจมีงาสั้น ๆ เรียกว่า ขนาย ช้างพลายที่ไม่มีงาก็มีอยู่บ้าง เรียกว่า ช้างสีดอ



เกี่ยวกับช้าง

ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ในวงศ์ Elephantidae โดยแบ่งเป็นสองสกุล ได้แก่ Elephas และ Loxodonta ช้างในปัจจุบันเหลือ 3 สปีชีส์ คือ ช้างแอฟริกา, ช้างป่าแอฟริกา และช้างเอเชีย (หรือที่รู้จักกันในชื่อ ช้างอินเดีย) ส่วนสปีชีส์และสกุลอื่นของวงศ์ Elephantidae ล้วนสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว บางสปีชีส์หรือสกุลสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งหลังสุด ถึงแม้ว่าช้างแมมมอธในรูปแคระอาจสืบสายพันธุ์ต่อมาจนถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล[1] ช้างและสัตว์ในวงศ์ Elephantidae อื่น ๆ เคยถูกจัดเป็นประเภทเดียวกับสัตว์หนังหนาอื่น ๆ ชื่อว่าอันดับ Pachydermata ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
ช้างนับเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน[2] ใช้เวลาการตั้งครรภ์ถึง 22 เดือน ซึ่งนับว่านานที่สุดในบรรดาสัตว์บกทุกชนิด ช้างแรกเกิดมีน้ำหนักเฉลี่ย 120 กิโลกรัม มีอายุขัยอยู่ระหว่าง 50 ถึง 70 ปี แต่ช้างอายุมากที่สุดที่เคยบันทึกไว้มีอายุถึง 82 ปี[3] ช้างขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้อาศัยอยู่ในแองโกลาในปี ค.ศ. 1956 ซึ่งมีน้ำหนักถึง 11,000 กิโลกรัม[4] ความสูงวัดถึงไหล่ 3.96 เมตร สูงกว่าช้างแอฟริกาเพศผู้ทั่วไปถึงหนึ่งเมตร[5] ส่วนช้างที่มีขนาดเล็กที่สุดนั้น มีขนาดประมาณเท่ากับลูกวัวหรือหมูตัวใหญ่ ๆ เป็นสปีชีส์ก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนเกาะครีตระหว่างสมัยไพลสโตซีน[6] จากการสังเกตการณ์ ช้างเพศผู้ที่มีสุขภาพดีนั้นไม่มีนักล่าตามธรรมชาติ[7] ถึงแม้ว่าสิงโตจะล่าลูกช้างหรือช้างที่อ่อนแอบ้าง[8][9] อย่างไรก็ตาม ช้างถูกคุกคามโดยการบุกรุกที่อยู่อาศัยของมนุษย์และการล่า
ช้างเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาในวัฒนธรรมเอเชียและมีกิตติศัพท์ว่ามีความจำและความฉลาดที่ดี โดยระดับสติปัญญาของมันนั้นคาดกันว่าจะเท่ากับของโลมา[10][11][12][13] หรือไพรเมต[14][15] เลยทีเดียว อริสโตเติล เคยกล่าวไว้ว่า ช้างเป็น "สัตว์ซึ่งเหนือกว่าสัตว์ทั้งปวงทั้งในด้านไหวพริบและจิตใจ"[16]