วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ลักษณะและธรรมชาติของช้าง...

     ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เลี้ยงลูกด้วยนม มีขาขนาดใหญ่ 4 ขา อุ้งเท้ามีความอ่อนนุ่ม เวลาเดินจึงไม่ค่อยมีเสียง การนอนของช้างนั้น โดยธรรมชาติจะนอนตะแคงลำตัวลงกับพื้น และมีการหาวนอนเช่นเดียวกับคน ช้างจะนอนหลับช่วงสั้น ๆ เพียง 3-4 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 23.00 น. ถึง 03.00 น. ช้างจะไม่นอนกลางวัน นอกจากมีอาการไม่สบายเท่านั้น
    - งวงช้าง คือ จมูกของช้าง มีความยาวจรดพื้น ใช้สำหรับหายใจ จับ ดึง ยก ลากสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งหยิบอาหารเข้าปาก ปลายงวงมีรู 2 รู หลวงตลอดความยาวของงวง งวงช้างไม่มีกระดูกแข็งอยู่ภายใน จึงมีลักษณะอ่อนและแกว่งไปมาได้ง่าย เมื่อต้องการ กินน้ำ ช้างจะใช้งวงดูดน้ำเข้าไปเก็บในงวงก่อน แล้วจึงพ่นน้ำจากงวงเข้าปากอีกต่อหนึ่ง
    - งาช้าง คือ ฟันหน้าหรือเขี้ยวของช้าง งอกออกจากขากรรไกรข้างละกิ่ง งาช้างมีสีขาวนวล เริ่มโผล่ให้เห็นเมื่อช้างอายุประมาณ 2-5 ปี งาช้างเป็นสิ่งที่สวยงามและมีราคามากที่สุดในตัวช้าง งาช้างที่สวยจะมีความโค้งเรียบสม่ำเสมอจนเกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ช้างใช้งาเป็นอาวุธสำหรับป้องกันตัว งาช้าง มี 2 ชนิด คือ งาปลี มีความยาวไม่มาก แต่มีขนาดใหญ่วัดโดยรอบได้ประมาณ 15 นิ้วขึ้นไป งาเครือ หรือ งาหวาย เป็นงาที่มีลักษณะยาวรี มีความกว้างโดยรอบไม่ถึง 14 นิ้ว
    - นัยน์ตา ช้างมีนัยน์ตาเล็กมากเมื่อเทียบกับรูปร่างอันสูงใหญ่ แต่ก็สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไกลและชัดเจน
    - ใบหู มีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่คล้ายพัด โบกไปมาอยู่เสมอ เมื่อช้างกางใบหูออกจะได้ยินเสียงจากที่ไกล ๆ ได้ดีขึ้น ช้างที่มีอายุมาก ใบหูจะม้วนลงมา ขอบล่างมักเว้าแหว่ง ขอบใบหูที่เหว้าแหว่งนี้อาจใช้คาดคะเนอายุของช้างได้คร่าว ๆ ถ้าขอบใบหูเว้าแหว่งน้อยแสดงว่าอายุยังน้อย ถ้าเว้าแหว่งมากแสดงว่าอายุมาก
    - หาง หางช้างมีลักษณะกลมยาวเรียวลงไปถึงเข่า ที่ปลายหางมีขนเส้นโตดำ ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว เรียงกัน 2 แถว ตลอดความยาวของหาง ประมาณ 6-7 นิ้ว
    - เล็บ ช้างมีนิ้วเท้าสั้นที่สุดจนเห็นอุ้งเท้า มีเล็บโผล่ให้เห็นเป็นบางเล็บ ช้างส่วนมากมี 18 เล็บ คือ เท้าหน้าข้างละ 5 เล็บ เท้าหลังข้างละ 4 เล็บ ช้างบางเชือกมี 16 เล็บ ในขณะที่บางเชือกมีถึง 20 เล็บ
การตั้งท้องและตกลูก

    ช้างตัวเมียที่ร่างกายสมบูรณ์จะเริ่มมีลูกได้ตั้งแต่อายุ 15-16 ปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี ตลอดชีวิตของแม่ช้างแต่ละเชือกอาจมีลูกได้ 3-4 เชือก โดยปกติแม่ช้างจะตกลูกได้เพียงครั้งละ 1 เชือกเท่านั้น และจะมีลูกห่างกันราว 3 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสภาพแวดล้อมของช้างด้วย ช้างบ้านมักจะมีลูกได้น้อยกว่าช้างป่าที่อยู่อย่างอิสระ และไม่ต้องทำงานหนัก
    การผสมพันธุ์ของช้างไม่เลือกฤดู แต่ส่วนใหญ่มักเป็นฤดูร้อน และจะตกลูกราวเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ช้างใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 221-22 เดือน การตั้งท้องของช้างนั้นสังเกตได้ยาก เพราะช้างมีขนาดตัวที่ใหญ่และอ้วนกลม คนเลี้ยงจึงต้องสังเกตจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของช้าง เช่น อาการอุ้ยอ้าย เต้านมขยาย น้ำนมไหล และไม่ยอมทำงาน เป็นต้น
    สัญชาตญาณอีกอย่างหนึ่งของแม่ช้างก็คือ แม่ช้างมักหาช้างพังด้วยกันไว้เป็นเพื่อน เรียกว่า "แม่รับ" ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกช้าง แม่รับจะรักและหวงลูกช้างยิ่งกว่าแม่จริงเสียอีก เมื่อช้างใกล้ถึงกำหนดที่จะตกลูกช้างจะหาบริเวณที่มีหญ้าอ่อนหรือพื้นดินนุ่มไว้รองรับลูกที่จะเกิดมา ก่อนตกลูก แม่ช้างจะมีอาการเจ็บท้องและส่งเสียงร้องโอดครวญนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยมักจะตกลูกในเวลากลางคืน
    การตกลูก ช้างจะย่อขาหลังทั้งสอง ลดตัวทางส่วนหลังให้ต่ำคล้ายการนั่งยอง ๆ เพื่อไม่ให้ลูกช้างที่เกิดใหม่ ตากจากที่สูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้
    ลูกช้างที่เกิดใหม่จะมีเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ แม่รับจะช่วยฉีกเยื้อนี้ออก หรือบางครั้งแม่ช้างก็จะฉีกเอง ลูกช้างจะนอนตะแคงนิ่ง ๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วจึงกระดิกหู หาง งวง และขาอย่างช้า ๆ จากนั้น จะค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน และสามารถเดินได้เลย ลูกช้างแรกเกิดมีขนยาว งวงสั้น สูงประมาณ 2-3 ฟุต งวงยาวประมาณ 10-15 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม แม่รับจะช่วยประคับประคองลูกช้างตลอดเวลา จนกระทั่งเข้าไปกินนมแม่ได้ แม่ช้างมีนม 2 เต้า ลูกข้างจะม้วนงวงขึ้นเพื่อใช้ปากดูดนมแม่ ลูกช้างกิน นมแม่นานหลายเดือนถึงแม้จะกินหญ้าได้แล้วก็ตาม แม่รับจะคอยดูแลลูกช้างตลอดจนดาลูกช้างไปหัดกินหญ้าอ่อน ลูกช้างมักซุกซน ทำให้ได้รับอันตรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ เช่น โดนไม้กลิ้งทับ หรือถูกสัตว์ มีพิษกัด แม่รับจึงมีหน้าที่คอยดูแลและระวังภัยให้ลูกช้างเป็นเวลาหลายปี ช้างรักลูกมาก ถ้าลูกช้างตาย แม่ช้างจะโศกเศร้ามาก บางครั้งถึงกับร้องไห้น้ำตาไหล และไม่ยอมกินอาหารเป็นเวลานาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น